ประวัติความเป็นมาของโรงเรียน

โรงเรียนบ้านไร่ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ เปิดทำการสอนที่วัดบ้านไร่ โดยใช้ศาลาวัด จัดเป็นที่เรียน ทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ต่อมาได้ใช้ที่เรียนชั่วคราวขึ้นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๘ ตารางวา โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านแหวน ๓ ใช้อาคารเรียนชั่วคราวประมาณ ๓ ปี ได้ถูกพายุพัด จึงได้กลับไปอาศัยเรียนที่ศาลาวัดตามเดิม

ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ นายสิงห์ไชย ไชยรังษี ครูใหญ่ได้ประชุมขอความร่วมมือกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านแหวน หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองควาย และหมู่ที่ ๑๑ ตำบลหางดง พร้อมทั้งเจ้าอาวาสวัดชัยวุฒิ วัดโขงขาว วัดศรีโพธิ์ทอง และวัดศาลา พร้อมทั้งราษฎรทั้ง ๔ หมู่บ้าน โดยมี นายเฮือน จินะวัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนถาวร ๑ หลัง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๘ เมตร มีทั้งระเบียงและมุขกลาง กว้าง ๕.๕ เมตร ยาว ๖ เมตร พื้นเทคอนกรีตใช้ไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้อง โดยใช้งบประมาณทั้งหมด ๕๒,๙๘๙.๕๐ บาท (ห้าหมื่นสองพันเก้าร้อยแปดสิบเก้าบาทห้าสิบสตางค์)และได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒

ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้โรงเรียนทั่วประเทศเปลี่ยนชื่อตามหมู่บ้าน ทางอำเภอได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านไร่ เนื่องจากจำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นในทุกๆปี ทางคณะกรรมการศึกษาโรงเรียนโดยนายตั๋น สายนำพล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านแหวนเป็นประธานกรรมการ นายแก้ว อินชุม เป็นรองประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการศึกษา และคณะครู ร่วมกันจัดหาเงินสร้างอาคารเรียน ๑ หลัง ใช้งบประมาณ ๒๑,๗๕๐.๒๕ บาท (สองหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยห้าสิบบาทยี่สิบห้าสตางค์) และได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘

ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับงบประมาณจากราชการ จำนวน ๑๙๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) สร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ก. จำนวน ๔ ห้องเรียน เรียกว่าอาคาร ศรีดรุณ

ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ทางโรงเรียนได้เปลี่ยนหลักสูตรประถมศึกษา โดยใช้หลักสูตรปี ๒๕๒๑ เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และได้เพิ่มขึ้นปีละชั้น จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ในปีการศึกษา ๒๕๒๖

ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้สร้างเรือนเพาะชำ โดยความร่วมมือจากคณะกรรมการศึกษา เพื่อเป็นการฉลอง กรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี

ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช.๒๐๒/๒๕๒๖ ขนาด กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เป็นเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท เรียกว่าอาคาร ศรีสุมิตร

ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับงบประมาณ จากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ สร้างเรือนเพาะชำ แบบ พ.๑

ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะกรรมการศึกษา คณะครู และผู้ปกครองนักเรียนร่วมบริจาคสนับสนุนการต่อเติมอาคารศรีสุมิตร เป็นห้องครัว และห้องสหกรณ์

ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน แบบ สปช. ๑๐๕/๒๙ จำนวน ๖ ห้องเรียน งบประมาณ ๑,๖๔๐,๐๐๐ บาท และได้เปิดป้าย โดยมีนายเกียรติ อัมพรายน์ ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี โดยใช้ชื่ออาคาร ว่า ศรีราชินี

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับงบประมาณปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางภาษา จำนวน ๑ ห้องเป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท และห้องคอมพิวเตอร์ ๑ ห้อง เป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท นอกจากนั้นยังได้รับงบประมาณปรับปรุงโรงเรียน ให้เป็นปัจจุบันอีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการศึกษา คณะครู ศิษย์โรงเรียนได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารห้องสมุด ๑ หลัง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สูง ๒ ชั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างได้มาตรฐานทางวิศวกรรม ใช้งบประมาณ ๕๓๐,๔๕๐ บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ดร.อำนวย ยศสุข จัดสรรงบพัฒนาจังหวัดสมทบ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ โดยมีนายสุริยา รัตนไตร เป็นประธานในพิธี โดยใช้ชื่ออาคารว่า ศรีกาญจนาภิเษก

ปี พ.ศ.๒๕๔๒ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครู ผู้ปกครองนักเรียนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเงิน ก่อสร้างห้องศูนย์การเรียนภาษาอังกฤษ และห้องพยาบาล โดยได้ทำพิธีเปิดป้าย เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ใช้ชื่ออาคารว่า ศรีสัมพันธ์

ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครู ผู้ปกครองนักเรียนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้างลานอเนกประสงค์ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักเรียน โดยทำพิธีเปิดป้าย เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านไร่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๔ มีอาคารเรียนถาวร ๒ หลัง อาคารอเนกประสงค์ ๑ หลัง อาคารประกอบอื่นๆ ๑ หลัง อาคารห้องสมุด ๑ หลัง มีครูประจำการ ๖ คน ครูจ้างสอน ๒ คน โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๒ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โดยมี นางสาวชนันท์ธิดา อินวอ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ตั้ง โรงเรียนบ้านไร่ เลขที่ ๒๐๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่