
เกี่ยวกับโรงเรียนบ้านไร่
โรงเรียนบ้านไร่ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ เปิดทำการสอนที่วัดบ้านไร่ โดยใช้ศาลาวัด จัดเป็นที่เรียน ทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ต่อมาได้ใช้ที่เรียนชั่วคราวขึ้นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๘ ตารางวา โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านแหวน ๓ ใช้อาคารเรียนชั่วคราวประมาณ ๓ ปี ได้ถูกพายุพัด จึงได้กลับไปอาศัยเรียนที่ศาลาวัดตามเดิม
ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ นายสิงห์ไชย ไชยรังษี ครูใหญ่ได้ประชุมขอความร่วมมือกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านแหวน หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองควาย และหมู่ที่ ๑๑ ตำบลหางดง พร้อมทั้งเจ้าอาวาสวัดชัยวุฒิ วัดโขงขาว วัดศรีโพธิ์ทอง และวัดศาลา พร้อมทั้งราษฎรทั้ง ๔ หมู่บ้าน โดยมี นายเฮือน จินะวัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนถาวร ๑ หลัง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๘ เมตร มีทั้งระเบียงและมุขกลาง กว้าง ๕.๕ เมตร ยาว ๖ เมตร พื้นเทคอนกรีตใช้ไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้อง โดยใช้งบประมาณทั้งหมด ๕๒,๙๘๙.๕๐ บาท (ห้าหมื่นสองพันเก้าร้อยแปดสิบเก้าบาทห้าสิบสตางค์)และได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้โรงเรียนทั่วประเทศเปลี่ยนชื่อตามหมู่บ้าน ทางอำเภอได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านไร่ เนื่องจากจำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นในทุกๆปี ทางคณะกรรมการศึกษาโรงเรียนโดยนายตั๋น สายนำพล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านแหวนเป็นประธานกรรมการ นายแก้ว อินชุม เป็นรองประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการศึกษา และคณะครู ร่วมกันจัดหาเงินสร้างอาคารเรียน ๑ หลัง ใช้งบประมาณ ๒๑,๗๕๐.๒๕ บาท (สองหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยห้าสิบบาทยี่สิบห้าสตางค์) และได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘
ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับงบประมาณจากราชการ จำนวน ๑๙๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) สร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ก. จำนวน ๔ ห้องเรียน เรียกว่าอาคาร ศรีดรุณ
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ทางโรงเรียนได้เปลี่ยนหลักสูตรประถมศึกษา โดยใช้หลักสูตรปี ๒๕๒๑ เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และได้เพิ่มขึ้นปีละชั้น จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ในปีการศึกษา ๒๕๒๖
ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้สร้างเรือนเพาะชำ โดยความร่วมมือจากคณะกรรมการศึกษา เพื่อเป็นการฉลอง กรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี
ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช.๒๐๒/๒๕๒๖ ขนาด กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เป็นเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท เรียกว่าอาคาร ศรีสุมิตร
ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับงบประมาณ จากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ สร้างเรือนเพาะชำ แบบ พ.๑
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะกรรมการศึกษา คณะครู และผู้ปกครองนักเรียนร่วมบริจาคสนับสนุนการต่อเติมอาคารศรีสุมิตร เป็นห้องครัว และห้องสหกรณ์
ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน แบบ สปช. ๑๐๕/๒๙ จำนวน ๖ ห้องเรียน งบประมาณ ๑,๖๔๐,๐๐๐ บาท และได้เปิดป้าย โดยมีนายเกียรติ อัมพรายน์ ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี โดยใช้ชื่ออาคาร ว่า ศรีราชินี
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับงบประมาณปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางภาษา จำนวน ๑ ห้องเป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท และห้องคอมพิวเตอร์ ๑ ห้อง เป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท นอกจากนั้นยังได้รับงบประมาณปรับปรุงโรงเรียน ให้เป็นปัจจุบันอีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการศึกษา คณะครู ศิษย์โรงเรียนได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารห้องสมุด ๑ หลัง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สูง ๒ ชั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างได้มาตรฐานทางวิศวกรรม ใช้งบประมาณ ๕๓๐,๔๕๐ บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ดร.อำนวย ยศสุข จัดสรรงบพัฒนาจังหวัดสมทบ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ โดยมีนายสุริยา รัตนไตร เป็นประธานในพิธี โดยใช้ชื่ออาคารว่า ศรีกาญจนาภิเษก
ปี พ.ศ.๒๕๔๒ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครู ผู้ปกครองนักเรียนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเงิน ก่อสร้างห้องศูนย์การเรียนภาษาอังกฤษ และห้องพยาบาล โดยได้ทำพิธีเปิดป้าย เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ใช้ชื่ออาคารว่า ศรีสัมพันธ์
ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครู ผู้ปกครองนักเรียนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้างลานอเนกประสงค์ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักเรียน โดยทำพิธีเปิดป้าย เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านไร่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๔ มีอาคารเรียนถาวร ๒ หลัง อาคารอเนกประสงค์ ๑ หลัง อาคารประกอบอื่นๆ ๑ หลัง อาคารห้องสมุด ๑ หลัง มีครูประจำการ ๖ คน ครูจ้างสอน ๒ คน โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๒ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โดยมี นางสาวชนันท์ธิดา อินวอ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ตั้ง โรงเรียนบ้านไร่ เลขที่ ๒๐๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ตราประจำโรงเรียน เป็นตราของ สพฐ.ด้านล่างมีคำว่า โรงเรียนบ้านไร่ สพป.ชม.๔


สีประจำโรงเรียน บานเย็น-ขาว

สีบานเย็น หมายถึงการ อ่อนโยน นุ่มนวล
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
ปรัชญาของโรงเรียน
การศึกษาเพื่อชีวิต
คำขวัญประจำโรงเรียน
เรียนดี มีคุณธรรม รักษ์สิ่งแวดล้อม น้อมนำความพอเพียง
เอกลักษณ์โรงเรียน
งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
อัตลักษณ์โรงเรียน
นักพฤกษศาสตร์น้อย
หมู่บ้านบ้านไร่ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๕ กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูก มีพื้นที่ทั้งหมด และมีอาณาเขตติดต่อใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับศูนย์บริการทิศตะวันตก ติดต่อกับวัดชัยวุฒิ
ทิศใต้ ติดต่อกับหมู่บ้านบ้านไร่เหนือ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับที่ดินของชาวบ้าน
นอกจากนี้ บ้านไร่ ยังมีอาณาเขตติดต่อกับชุมชนโบราณ คือ ชุมชนหนองควาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดที่มีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงาม คือ วัดต้นเกว๋น สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่มีความสุขของชุมชนในบริเวณนี้ เนื่องจากหมู่บ้านไร่ ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง ทำให้ผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอก
ชุมชน แต่อาชีพหลักของประชากรในหมู่บ้าน ยังคงเป็นอาชีพเกษตรกรรม และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานฝีมือ เช่น การจักรสานจากไม้ไผ่ การแกะสลักไม้ และงานประดิษฐ์ ต่างๆ มีความเป็นอยู่ที่อิงกับการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เรียบง่ายและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นประชาชนโดยทั่วไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูก และอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนหนึ่งจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาขายแรงงานในด้านการก่อสร้าง และโรงงานแกะสลักไม้
วัฒนธรรมประเพณี / เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ชุมชน
- การแต่งกายแบบล้านนา
- ประเพณีตานก๋วยสลาก
- ประเพณีตานข้าวใหม่เดือนสี่เป็ง
- ประเพณีเดือนยี่เป็ง
- ประเพณีปอยหลวง
- วิถีคนเมืองล้านนา
- ประเพณีปีใหม่เมือง







วิสัยทัศน์โรงเรียน (Vision)
โรงเรียนบ้านไร่มุ่งพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความรู้คู่คุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยอาศัยงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
พันธกิจโรงเรียน (Mission)1. พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และชุมชน
2. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. ส่งเสริมพัฒนาครูให้มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ
4. ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ปลูกฝังผู้เรียนในการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติโดยใช้งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นฐาน มีคุณธรรมนำความรู้ คู่ความเป็นไทย
5. ส่งเสริมผู้เรียนตามวิถีของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
6. บริหารจัดการตามหลักธรรมภิบาล และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
เป้าประสงค์โรงเรียน (Objective)
1. โรงเรียนมีหลักสูตร สถานศึกษาที่เหมาะสม กับผู้เรียน และท้องถิ่น
2. ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. ครูมีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ
4. ครูจัดการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญปลูกฝังผู้เรียนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยใช้งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นฐาน มีคุณธรรมนำความรู้คู่ความเป็นไทย
5. ผู้เรียนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
6. โรงเรียนบริหารงานตามหลักธรรมภิบาล และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
กลยุทธ์โรงเรียน (Strategies)
1. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3. พัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
4. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพมีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ
5. พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษาตามหลักธรรมภิบาล เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
จุดเน้นโรงเรียนบ้านไร่
1. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนใน ๔ กลุ่มสาระวิชาหลัก โดยผลการทดสอบระดับชาติ (O-Net) ให้มีผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒
2. นักเรียนปฐมวัยทุกคนมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่สมดุลเหมาะสมกับวัยและเรียนรู้อย่างมีความสุข
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ทุกคน อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ทุกคนอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง และมีทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน
4. นักเรียนทุกคนมีความสำนึกในความเป็นไทย มีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
5. นักเรียนมีทักษะชีวิต ทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และทักษะการสื่อสารอย่าสร้างสรรค์ อย่างน้อย ๑ ภาษา ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
6. ประชากรวัยเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาด้วยทางเลือกที่หลากหลายเพื่อลดอัตราเด็กตกหล่น ออกกลางคัน ส่งเสริมการเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ
7. โรงเรียนมีระบบประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ
8. โรงเรียนบริหารจัดการโดยเน้นการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วน